วิเคราะห์คติธรรมจากประเพณีการสร้างพระพุทธรูปไม้ในจังหวัดแพร่
บทคัดย่อ
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์คือ 1) เพื่อศึกษาแนวคิดทางพระพุทธศาสนาเกี่ยวกับการสร้างพระพุทธรูป 2) เพื่อศึกษาประเพณีการสร้างพระพุทธรูปไม้ในจังหวัดแพร่ และ 3) เพื่อวิเคราะห์คติธรรมจากประเพณีการสร้างพระพุทธรูปไม้ในจังหวัดแพร่ เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยการศึกษาภาคเอกสารและการสัมภาษณ์เชิงลึก กลุ่มผู้ให้ข้อมูลสำคัญแบบเจาะจง จำนวน 12 รูป/คน ผลการวิจัยพบว่า
1) การสร้างพระพุทธรูปไม้ ไม่ปรากฏชัดว่ามีการสร้างพระพุทธรูปในสมัยพุทธกาล แต่มีการกล่าวอ้างถึงตำนานการสร้างพระพุทธรูป คือตำนานพระแก่นจันทน์ จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์พบว่า มีการสร้างพระพุทธรูปครั้งแรกเกิดขึ้นในสมัยพระเจ้ามิลินทร์เป็นต้นมา มีแนวคิดพื้นฐานมากจากเรื่องพุทธลักษณะ 32 ประการและอนุพยัญชนะ 80 ของพระพุทธเจ้า
2) ประเพณีการสร้างพระพุทธรูปไม้ในจังหวัดแพร่ ไม่พบหลักฐานแน่ชัดว่าเริ่มมาแต่สมัยใด แต่พบว่า มีพระพุทธรูปไม้จำนวนมากทั่วจังหวัดแพร่ ที่พบมากที่สุดอยู่ที่อำเภอลอง อำเภอสูงเม่น และมีการสร้างพิพิธภัณฑ์เพื่อเก็บอนุรักษ์ ช่วงหลังประเพณีการสร้างพระพุทธรูปไม้เริ่มหายไป ไม่เป็นที่นิยมมากนัก จะมีแต่เฉพาะปราชญ์ภูมิปัญญาที่มีประสบการณ์และองค์ความรู้ในพื้นที่ที่ยังมีข้อมูลและมีการสืบทอดการสร้างพระพุทธรูปไม้อยู่ ประเพณีการสร้างพระพุทธรูปไม้มี 2 ลักษณะ คือ (1) ประเพณีสร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่ที่มีพิธีกรรมครบสมบูรณ์ตามตำราโบราณล้านนา และ (2) ประเพณีสร้างพระพุทธรูปไม้องค์เล็กถวายเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ตนเองในการสืบชะตาต่ออายุ
3) จากการศึกษาวิเคราะห์คติธรรมจากประเพณีการสร้างพระพุทธรูปไม้ในจังหวัดแพร่ พบว่า ประเพณีการสร้างพระพุทธรูปไม้สะท้อนคติธรรมทางพระพุทธศาสนา 2 ลักษณะ ได้แก่ (1)หลักศรัทธา หลักการบูชา หลักบุญกิริยาวัตถุ และ (2) คติธรรมแฝงในพิธีกรรม คือ หลักสามัคคี และหลักสัมมาอาชีวะ ดังนั้น จึงควรส่งเสริมประเพณีการสร้างพระพุทธรูปไม้ในจังหวัดแพร่เพื่อเป็นการสืบทอดภูมิปัญญาและอายุพระพุทธศาสนาสืบต่อไป
บรรณานุกรม
มานิตย์ กันทะลัก. “พุทธศิลปกรรมล้านนา: แนวคิด คุณค่า การส้รางสรรค์เพื่อเสริมสร้างจิตวิญญาณและการเรียนรู้ของสังคม”. รายงานการวิจัย. วิทยาลัยสงฆ์เชียงราย: มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2560.
วิสิทธิ์ โพธิวัฒน์. “การนำเสนอแนวทางการส่งเสริมผู้สร้างสรรค์พุทธศิลป์เพื่อการธำรงและการสืบต่อวัฒนธรรมการเรียนรู้การสร้างสรรค์พุทธศิลป์”. วิทยานิพนธ์ครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาพัฒนาศึกษา, บัณฑิตวิทยาลัย: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2554.
อนุวิทย์ เจริญศุภกุล. “สถานภาพการศึกษาสถาปัตยกรรมล้านนา: การศึกษาเชิงประวัติศาสตร์ศิลป์ พ.ศ. 2469-2529”. วารสารศิลปากร, (กรกฎาคม-สิงหาคม 2535) : 82.