ศึกษาประเพณีการเทศน์มหาชาติของประชาชนตำบลท่าสัก อำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์

  • พระอธิการอนุกูล พุทฺธสโร มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตแพร่
  • พระราชเขมากร . มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตแพร่
  • เกรียงศักดิ์ ฟองคำ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตแพร่
คำสำคัญ: ประเพณี, การเทศน์มหาชาติ

บทคัดย่อ

งานวิจัยในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ คือ 1) เพื่อศึกษาประวัติความเป็นมาของประเพณีการเทศน์มหาชาติ 2) เพื่อศึกษาหลักพุทธธรรมที่ปรากฏในประเพณีการเทศน์มหาชาติของประชาชนในชุมชนท่าสัก ตำบลท่าสัก อำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ และ 3) เพื่อวิเคราะห์คุณค่าของประเพณีการเทศน์มหาชาติของประชาชนในชุมชนท่าสัก ตำบลท่าสัก อำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ การศึกษาวิจัยในครั้งนี้เป็นการศึกษาวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ผู้วิจัยได้ศึกษาข้อมูลจากเอกสารปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth-interviews) กับกลุ่มประชากรจำนวน 25 คน และทำการวิเคราะห์ตามวัตถุประสงค์ โดยสามารถสรุปได้ดังต่อไปนี้

ผลการศึกษาวิจัยพบว่า

  1. ประเพณีการเทศน์มหาชาติเป็นประเพณีที่ได้รับการสืบทอดมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย กรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์ มีการแต่งเป็นสำนวนต่าง ๆ ตามยุคสมัย เรื่องราวของมหาชาติชาดกมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อพุทธศาสนิกชน เพราะถือว่าเป็นตอนที่พระพุทธเจ้าเสวยพระชาติเป็นพระเวสสันดร อันเป็นพระชาติสุดท้ายที่ทรงบำเพ็ญพระบารมีครบ 10 ประการ ก่อนจะตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณ ด้วยทานบารมีชั้นสุดยอดที่ยากยิ่ง จึงเรียกว่า มหาชาติ ความนิยมและความสำคัญของเรื่องมหาชาติชาดก ปรากฏให้เห็นได้จากวรรณกรรมที่แต่งขึ้นมากมาย ทั้งต่างสำนวนและต่างยุคสมัยเฉพาะที่เป็นฉบับหลวงก็มีมากมายในลักษณะของรูปแบบคำประพันธ์ต่าง ๆ นอกจากนี้ยังมีมหาชาติฉบับท้องถิ่นต่าง ๆ อีก เช่น ทางภาคเหนือมีมหาชาติภาคพายัพ เขียนเป็นอักษรล้านนา มีหลายฉบับและหลายสำนวน ทางภาคอีสาน มีมหาชาติคำเฉียง ส่วนทางภาคใต้ มีมหาชาติชาดกฉบับวัดมัชฌิมาวาส สงขลา เป็นต้น รวมถึงยังมีมหาชาติสำนวนต่าง ๆ ที่มีการแต่งอยู่ทั่วไปในแต่ละพื้นที่ 2. หลักธรรมที่ปรากฏในประเพณีการเทศน์มหาชาติของประชาชนในชุมท่าสัก อำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ ประกอบไปด้วย 1) หลักบุญกิริยาวัตถุ 3 คือ การให้ทาน การรักษาศีล และหลักภาวนา 2) หลักพรหมวิหาร 4 คือ เมตตา กรุณา มุฑิตา และอุเบกขา 3) หลักศรัทธา คือ หลักความเชื่อที่ประกอบไปด้วยเหตุผล ไม่ตั้งอยู่ในความงมงาย 4) หลักความกตัญญูกตเวที คือ การรู้จักตอบแทนพระคุณผู้ที่มีอุปการคุณทั้งในยามมีชีวิตและเสียชีวิตแล้ว 5) หลักทิศ 6 คือ หลักในการปฏิบัติตัวอยู่ร่วมกับบุคคลรอบ ๆ ตัวเราทั้งบิดามารดา ครูอาจารย์ สามีภรรยา มิตรสหาย ลูกน้องบริวาร และพระสงฆ์ 6) หลักสัปปุริสธรรม คือ หลักธรรมสำหรับสัตตบุรุษที่จะต้องรู้เหตุ รู้ผล รู้ตน รู้ประมาณ รู้กาล รู้ชุมชน และรู้บุคคล และ 7) หลักสาราณียธรรม หรือหลักในการสร้างความสามัคคีให้แก่ชุมชน 3. คุณค่าของประเพณีการเทศน์มหาชาติของประชาชนในชุมชนท่าสัก ตำบลท่าสัก อำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์มี 5 ด้าน คือ 1) คุณค่าด้านหลักคำสอน คือ คติธรรมทางพระพุทธศาสนาที่ปรากฏในประเพณีการเทศน์มหาชาติทำให้ประชาชนสามารถปฏิบัติตนในชุมชนได้อย่างสงบสุข 2) คุณค่าต่อครอบครัว ประเพณีเทศน์มหาชาติถือเป็นโอกาสที่ครอบครัวจะได้มีโอกาสทำบุญร่วมกัน พบปะกัน เป็นการสร้างความอบอุ่นภายในครอบครัวและอยู่ร่วมกันด้วยความเอื้ออาทร 3) คุณค่าด้านเศรษฐกิจ คือ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจทางการเกษตรภายในชุมชน 4) คุณค่าต่อสังคม คือ ทำให้ประชาชนรู้จักการเสียสละ ช่วยเหลือแบ่งปัน และ 5) คุณค่าด้านขนบธรรมประเพณี คือ เป็นประเพณีที่มีรากฐานมาจากคำสอนทางพระพุทธศาสนาที่ได้รับการสืบทอดมาจากบรรพบุรุษ ช่วยปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมแก่ประชาชนในชุมชน เพื่อให้อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขในสังคมปัจจุบัน

บรรณานุกรม

คณาจารย์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. (2555). งานวิจัยและวรรณกรรมทางพุทธศาสนา. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพมหานคร: มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.

พระมหามฆวินทร์ ปุริสุตฺตโม และคณะ. (2560). “วิเคราะห์คุณธรรมและคุณค่าที่ปรากฏในการเทศน์มหาชาติ”. วารสารบัณฑิตศึกษาปริทรรศน์. ปีที่ 13 ฉบับที่ 1 มกราคม-เมษายน.

พระครูสังฆรักษ์เกียรติศักดิ์ กิตฺติปญฺโญ. (2558). ระเบียบวิธีวิจัยทางสังคมศาสตร์. เชียงใหม่: บริษัท ประชากรธุรกิจ.

มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. (2551). เทศน์มหาชาติ. นนทบุรี: โครงการบริการวิชาการแก่สังคม.

รัชนีกร เศรษโฐ. (2544). โครงสร้างสังคมและวัฒนธรรมไทย. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช.

สมปราชญ์ อัมมะพันธ์. (2536). ประเพณีและพิธีกรรมในวรรณคดีไทย. กรุงเทพมหานคร: โอเดียนสโตร์.

สุวิมล ติรกานันท์. (2555). ระเบียบวิธีการวิจัยทางสังคมศาสตร์. พิมพ์ครั้งที่ 10. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
เผยแพร่แล้ว
2022-02-11