ศึกษาคติธรรมในประเพณีกวนข้าวทิพย์ของประชาชนในตำบล พญาแมน อำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์

  • พระครูพิมลกิตติคุณ . มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตแพร่
  • พรหมเรศ แก้วโมลา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตแพร่
  • พระอนุสรณ์ กิตฺติวณฺโณ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตแพร่
คำสำคัญ: คติธรรม, ประเพณีกวนข้าวทิพย์

บทคัดย่อ

งานวิจัยในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ คือ 1) เพื่อศึกษาประวัติความเป็นมาของประเพณีกวนข้าวทิพย์ของวัดบ้านดง ตำบลพญาแมน อำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ 2) เพื่อศึกษาคติธรรมที่ปรากฏในประเพณีกวนข้าวทิพย์ของประชาชนในตำบลพญาแมน อำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ และ 3) เพื่อวิเคราะห์คุณค่าของประเพณีกวนข้าวทิพย์ของประชาชนในตำบลพญาแมน อำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) โดยการศึกษาภาคเอกสาร และสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth-interviews) ประชาชนในพื้นที่ จำนวน 20 คน และทำการวิเคราะห์ตามวัตถุประสงค์

ผลการศึกษาวิจัยพบว่า

  1. ประเพณีกวนข้าวทิพย์ของวัดบ้านดง ตำบลพญาแมน อำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นประเพณีที่มีคติความเชื่อมาจากการถวายข้าวมธุปายาสแด่พระพุทธเจ้าก่อนตรัสรู้ของนางสุชาดา โดยถือว่ามีผลานิสงส์มาก ด้วยเหตุนี้ประชาชนตำบลพญาแมนจึงทำพิธีกวนข้าวทิพย์เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา ซึ่งข้าวทิพย์หรือข้าวมธุปายาสเชื่อกันว่า เมื่อทำครบถ้วนตามพิธีแล้ว จะเป็นสิริมงคลแด่ผู้ทำและผู้บริโภค ประเพณีกวนข้าวทิพย์ของวัดบ้านดง เริ่มจัดขึ้นครั้งแรกเมื่อวันจันทร์ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2500 ตรงกับวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ในวันวิสาขบูชา โดยหลวงพ่อสำเนียง ศรีสุนทร (พระครูวิรุฬห์ศีลวัตร) อดีตเจ้าอาวาสวัดบ้านดง เจ้าคณะอำเภอพิชัย ข้าวทิพย์ของวัดบ้านดงจัดเป็นอัตลักษณ์เฉพาะเป็นหนึ่งเดียวของจังหวัดอุตรดิตถ์ ในปัจจุบันประเพณีกวนข้าวทิพย์จะถูกจัดขึ้นระหว่างวันที่ 17-18 พฤษภาคม ของทุกปี

คติธรรมที่ปรากฏในประเพณีกวนข้าวทิพย์ ประกอบไปด้วย 1) คติธรรมเรื่องความศรัทธา 2) คติธรรมเรื่องความสามัคคี หรือความร่วมมือของประชาชน 3) คติธรรมเรื่องการให้ทานหรือการเสียสละ 4) คติธรรมเรื่องเบญจศีล-เบญจธรรม 5) คติธรรมเรื่องความกตัญญู  6) คติธรรมเรื่องขันติความอดทน เพราะเป็นประเพณีที่ผู้ประกอบพิธีจะต้องใช้ความอดทนจากความร้อนและควันจากเตาไฟ ความพร้อมเพรียงและความชำนาญ เพื่อที่จะสามารถกวนข้าวทิพย์ให้แล้วเสร็จ

ประเพณีกวนข้าวทิพย์ของวัดบ้านดง มีคุณค่าทั้งหมด 5 ด้าน คือ 1) คุณค่าด้านครอบครัว คือ เป็นประเพณีที่ทำให้กลุ่มเครือญาติได้มีโอกาสพบปะกัน 2) คุณค่าด้านสังคม คือ สร้างความร่วมมือระหว่างชุมชน เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างประชาชน และหน่วยงานภายในชุมชน 3) คุณค่าด้านขนบธรรมเนียมประเพณี คือ เป็นประเพณีที่ได้รับการสืบทอดมาจากบรรพบุรุษเป็นระยะเวลากว่า 60 ปี 4) คุณค่าด้านศาสนา  เป็นประเพณีที่ช่วยสืบทอดพระพุทธศาสนาทั้งในด้านการเรียนรู้พุทธประวัติและการซึมซับคติธรรมทางพระพุทธศาสนามาเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต 5) คุณค่าด้านเศรษฐกิจ คือ เป็นการช่วยกระตุ้นระบบเศรษฐกิจภายในชุมชนให้มีความคึกคัก มีการเปิดร้านค้าบริเวณรอบพิธี และมีการเปิดโอกาสให้ประชาชนบูชาข้าวทิพย์ไปรับประทาน นำปัจจัยที่ได้รับไปบำรุงเสนาสนะภายในวัด และ 6) คุณค่าด้านการอนุรักษ์ คือ เป็นประเพณีที่มีการสืบทอดมาเป็นเวลานาน ได้รับการส่งเสริมสนับสนุนจากชาวบ้านให้มีการจัดขึ้นเป็นประจำทุกๆ ปี เพื่อเป็นการสืบทอดอนุรักษ์ประเพณีให้คู่กับชุมชนต่อไป

บรรณานุกรม

กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม. (2559). วัฒนธรรม วิถีชีวิตและภูมิปัญญา. กรุงเทพมหานคร: บริษัทรุ่งศิลป์การพิมพ์ จำกัด.

จิราภรณ์ ภัทราภานุภัทร. (2528). สถานภาพการศึกษาเรื่องคติความเชื่อของไทย. กรุงเทพมหานคร: โครงการไทยศึกษา ฝ่ายวิชาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

พระครูสังฆรักษ์เกียรติศักดิ์ กิตฺติปญฺโญ. (2558). ระเบียบวิธีวิจัยทางสังคมศาสตร์. เชียงใหม่: บริษัท ประชากรธุรกิจ.

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. (2560). ประวัติพระพุทธศาสนา. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.

สุวิมล ติรกานันท์. (2555). ระเบียบวิธีการวิจัยทางสังคมศาสตร์. พิมพ์ครั้งที่ 10. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
เผยแพร่แล้ว
2022-02-11