คติความเชื่อในการปิดทองพระพุทธรูปของประชาชนในตำบลป่าแมต อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่

  • พระนิเทศก์ โรจนญาโณ (คำมูล) มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตแพร่
  • รวีโรจน์ ศรีคำภา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตแพร่
  • พระมหาสิทธิชัย ชยสิทฺธิ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตแพร่
คำสำคัญ: คติความเชื่อ, การปิดทองพระพุทธรูป

บทคัดย่อ

งานวิจัยในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ คือ 1) เพื่อศึกษาประวัติความเป็นมาของการปิดทองพระพุทธรูปในพระพุทธศาสนา 2) เพื่อศึกษาคติความเชื่อในการการปิดทองพระพุทธรูปในพระพุทธศาสนา และ 3) เพื่อวิเคราะห์คติความเชื่อในการปิดทองพระพุทธรูปของประชาชนในตำบลป่าแมต อำเภอเมืองแพร่ เป็นการศึกษาเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) เก็บรวบรวมข้อมูลจากเอกสาร หนังสือ ตำรา บทความวิชาการ งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง และสัมภาษณ์เชิงลึก (in-depth interview) ประชาชนในตำบลป่าแมต จำนวน 20 คน สรุปผลการศึกษาวิจัยว่า

  1. การปิดทองพระพุทธรูปในพระพุทธศาสนา ไม่มีหลักฐานที่แน่ชัดว่าเริ่มมีการปิดทองพระพุทธรูปตั้งแต่ปีไหน แต่มีการกล่าวถึงอานิสงส์ของการทำบุญด้วยทองที่ปรากฏในประวัติของพระมหากัจจายนะ ว่าท่านมีผิวพรรณสดใจดุจทองคำ เนื่องจากในอดีตชาติได้ทำบุญด้วยการถวายแผ่นอิฐทองคำสร้างเจดีย์ ในประเทศไทยมีการค้นพบพระพุทธรูปที่มีการปิดด้วยทองคำในสมัยทวารวดี มีการค้นพบพระพุทธรูปที่ถ้ำเขางู จังหวัดราชบุรี ในสมัยสุโขทัยมีการค้นพบพระพุทธรูปที่ปิดทอง โดยมีปรากฏในหลักฐานเป็นพระพุทธรูปที่วัดศรีชุม รวมถึงหลักฐานที่จารึกไว้ในศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงว่า มีพระอัฏฐารศที่ปิดด้วยทองคำ ในสมัยอยุธยารัชสมัยของพระเอกาทศรถก็ได้มีการจารึกว่ามีการนำเอาแผ่นทองเปลวอย่างหนาไปปิพระพุทธชินราช ในสมัยรัตนโกสินทร์ก็เช่นกัน มีการนำเอาทองคำไปปิดพระพุทธรูปและเจดีย์ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม และในปัจจุบันก็นิยมนำเอาแผ่นทองคำเปลวไปปิดพระพุทธรูปประจำวัน รวมถึงรูปหล่อพระเกจิต่าง ๆ ซึ่งแต่เดิมนั้นใช้แผ่นทองคำเปลวบริสุทธิ์ในการปิด เพื่อให้เกิดความสวยงามและมีคุณค่า ปัจจุบันได้มีการพัฒนานำเอาแผ่นทองคำทางวิทยาศาสตร์ประประยุกต์ใช้แทนแผ่นทองคำเปลว เนื่องจากมีราคาที่ถูกกว่า
  2. คติความเชื่อในการปิดทองพระพุทธรูปในพระพุทธศาสนามี 3 คติที่สำคัญ คือ

1) คติความเชื่อเรื่องการบูชา คือ การปิดทองพระพุทธรูปถือเป็นการบูชาพระพุทธเจ้าโดยตรง ความเชื่อเรื่องการปิดทองพระพุทธรูปจึงมาพร้อม ๆ กับแนวคิดเรื่องการบูชาสิ่งที่ควรบูชาในพระพุทธศาสนา มีการนำเอาสิ่งของที่มีค่า เช่น เงิน ทอง มาเป็นส่วนหนึ่งของการบูชา 2) คติความเชื่อเรื่องโลกนี้และโลก ถือเป็นคติความเชื่อที่พุทธศาสนิกชนไทยได้ให้ความสำคัญเป็นอย่างมากในการทำบุญ ด้วยความเชื่อเรื่องการเวียนว่ายตายเกิด ทำให้เกิดการกระทำที่เรียกว่ากุศลหรือการทำบุญขึ้น เพื่อเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจว่า หากได้สร้างกุศลหรือการทำบุญไว้ในปัจจุบันชาติก็จะส่งผลให้ไปเกิดในภพภูมิที่ดีในโลกหน้า และ 3) คติความเชื่อเรื่องการมีส่วนร่วม คือ คติความเชื่อที่จะต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของประชาชนจากหลายภาคส่วน ในการสร้างพระพุทธรูปและการร่วมปิดทอง เนื่องจากการสร้างพระพุทธรูปขึ้นมาหนึ่งองค์นั้นจะต้องอาศัยกำลังทรัพย์ และกำลังฝีมือของช่างเป็นสำคัญ บางคนไม่สามารถที่จะสร้างพระพุทธรูปขึ้นมาเพียงลำพังได้ จึงต้องอาศัยการมีส่วนร่วมในการสร้างโดยการปิดทองพระพุทธรูป

  1. คติความเชื่อในการปิดทองพระพุทธรูปของประชาชนในตำบลป่าแมต อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่ พบว่ามี 4 ด้าน คือ 1) คติความเชื่อด้านเป้าหมายของการปิดทองพระพุทธรูป ประชาชนในตำบลป่าแมตมีความเชื่อเรื่องเป้าหมายของการปิดทองพระพุทธว่าการปิดทองพระพุทธรูปทำให้พระพุทธรูปมีความสวยงามและมีคุณค่า เป็นการทำบุญทางพระพุทธศาสนา ผลที่เกิดขึ้นจากการปิดทองพระพุทธรูปสามารถช่วยให้มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ มีโชคลาภ และทำให้เกิดความสบายใจต่อผู้ปฏิบัติ 2) คติความเชื่อด้านตำแหน่งของการปิดทองพระพุทธรูป พบว่า ประชาชนมีความเชื่อที่แตกต่างกัน 4 ลักษณะ คือ (1) กลุ่มที่เชื่อการปิดทองพระพุทธรูปตำแหน่งต่าง ๆ มีอานิสงส์ส่งผลทำให้สิ่งที่ปรารถนาสำเร็จทั้งในโลกนี้และโลกหน้า (2) กลุ่มที่เชื่อว่าการปิดทองไม่จำเป็นต้องระบุตำแหน่งเพราะถือเป็นการทำบุญที่จะก่อให้เกิดความสบายใจ (3) กลุ่มที่เชื่อว่าการปิดทองเป็นเพียงตกแต่งพระพุทธรูปเพื่อให้เกิดความสวยงามและเกิดคุณค่าทางด้านพุทธศิลป์ และ (4) กลุ่มที่เชื่อว่าการปิดทองตำแหน่งต่าง ๆ เป็นเพียงกุศโลบายในการสร้างความสบายใจแก่ผู้ปฏิบัติและเป็นกุศโลบายในการเชิญชวนคนเข้าวัดทางพระพุทธศาสนา 3) คติความเชื่อด้านกระบวนการขั้นตอนการปิดทองพระพุทธรูป พบว่า กระบวนการขั้นตอนในการปิดทองพระพุทธรูปนั้น เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความมั่นใจในการปิดทองพระพุทธรูป และ 4) คติความเชื่อเรื่องอานิสงส์ของการปิดทองพระพุทธรูป พบว่า ประชาชนมีความเชื่อเรื่องอานิสงส์ของการปิดทองพระพุทธรูปในแต่ละตำแหน่งว่าจะสามารถช่วยให้ชีวิตประสบแต่ความสุขความเจริญ ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ มีทรัพย์สมบัติบริบูรณ์ และส่งผลให้ได้ไปเกิดในภพภูมิที่ดีในโลกหน้า

 

บรรณานุกรม

กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม. (2550). องค์ความรู้เรื่องงานช่างปิดทองบนพื้นเรียบ (ปิดทองทึบ). โครงการสร้างต้นแบบเพื่อจัดทำองค์ความรู้ด้านศิลปกรรม ความรู้ด้านการปิดทองทึบ.
ทน ตนมั่น (ปริวรรต). (2514). ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์สำนักงานเลขานุการรัฐมนตรี.
พระครูสังฆรักษ์เกียรติศักดิ์ กิตฺติปญฺโญ. (2558). ระเบียบวิธีวิจัยทางสังคมศาสตร์. เชียงใหม่: บริษัท ประชากรธุรกิจ.
มดดำ ผู้เชี่ยวชาญด้านความเชื่อ. (2563). “การปิดทองพระ อานิสงส์ผลบุญที่ให้เห็นแน่ในชาตินี้”. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 19 สิงหาคม. https://www.horolive.com/781.html.
ศิรพงศ์ ศักดิ์สิทธิ์. (2554). คติการสร้างพระพุทธรูปไม้ในล้านนา. ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์. บัณฑิตวิทยาลัย: มหาวิทยาลัยศิลปากร.
สุรสวัสดิ์ ศุขสวัสดิ์. (2558). พระพุทธรูปล้านนากับคติพระพุทธศาสนามหายานแบบตันตระนิกายวัชรยาน. เชียงใหม่: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
สุวิมล ติรกานันท์. (2555). ระเบียบวิธีการวิจัยทางสังคมศาสตร์. พิมพ์ครั้งที่ 10. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
เสถียร โพธินันทะ. (2544). ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา. กรุงเทพมหานคร: บริษัทสร้างสรรค์บุคส์.
เผยแพร่แล้ว
2022-02-11