การพัฒนารูปแบบการบริหารโรงเรียนโดยใช้โรงเรียนเป็นฐานให้เหมาะสมกับบริบทของโรงเรียนเทศบาล 3

  • เพ็ญแข แสงงาม
คำสำคัญ: การบริหารโรงเรียนโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน, การพัฒนารูปแบบ, บริบท

บทคัดย่อ

การศึกษาวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนารูปแบบการบริหารโรงเรียนโดยใช้โรงเรียนเป็นฐานให้เหมาะสมกับบริบทของโรงเรียนเทศบาล 3 โดยได้ดำเนินการเป็น 2 ขั้นตอน คือ การสร้างรูปแบบ การบริหารโรงเรียนโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน ดำเนินการโดยศึกษาเอกสารงานวิจัย ขั้นตอนที่ 2 การพัฒนารูปแบบการบริหารโรงเรียนโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน ดำเนินการโดยผู้ปฏิบัติงานในโรงเรียนเทศบาล 3 กลุ่มตัวอย่างในขั้นตอนนี้ได้แก่ คณะกรรมการสถานศึกษา จำนวน 15 คน ผู้บริหารสถานศึกษา จำนวน 1 คน และครูผู้สอน จำนวน 14 คน สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ความเบี่ยงเบนมาตรฐาน สัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์การพยากรณ์ ผลการศึกษาวิจัย พบว่า รูปแบบการบริหารโรงเรียนโดยใช้โรงเรียนเป็นฐานที่เหมาะสมกับบริบทของโรงเรียนเทศบาล 3 ซึ่งผ่านเกณฑ์การตรวจสอบความเหมาะสมโดยผู้ปฏิบัติงานในโรงเรียน ปรากฏว่า ด้านการบริหารวิชาการ ประกอบด้วยภารกิจ จำนวน 26 ข้อ โดยข้อที่มีความสำคัญ 3 อันดับแรก ได้แก่ การจัดครูเข้าสอนตามกลุ่มสาระการเรียนรู้ การอนุมัติการเลื่อนชั้นของนักเรียน และการประกันคุณภาพการศึกษา ด้านการบริหารบุคคล ประกอบด้วยภารกิจ จำนวน 14 ข้อ โดยข้อที่มีความสำคัญ 3 อันดับแรก ได้แก่ การสรรหาบุคลากร การประเมินการปฏิบัติงานของบุคลากร และการอนุมัติรับบุคลากรจากโรงเรียนอื่น ด้านการบริหารงบประมาณ ประกอบด้วยภารกิจ จำนวน 10 ข้อ โดยข้อที่มีความสำคัญ 3 อันดับแรก ได้แก่ การอนุมัติจัดตั้งงบประมาณของโรงเรียน การอนุมัติงบประมาณของโรงเรียน และการแสวงหางบประมาณของโรงเรียน ด้านการบริหารทั่วไป ประกอบด้วยภารกิจ จำนวน 26 ข้อ โดยข้อที่มีความสำคัญ 3 อันดับแรก ได้แก่ การกระจายอำนาจในโรงเรียน การพัฒนาระบบฐานข้อมูลและเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อการบริหารและการเรียนการสอน และการจัดบริการด้านต่าง ๆ ให้แก่ชุมชน
เผยแพร่แล้ว
2019-12-31