การวิเคราะห์วิธีการบริหารทางพุทธศาสนาที่ปรากฏในพระไตรปิฎก

  • สรายุทธ อุดม
  • ศิริวัฒน์ ศรีครีดอง
  • ปิยะวัฒน์ คงทรัพย์
  • พระมหาประเสริฐ สุเมโธ
คำสำคัญ: วิเคราะห์, พุทธวิธีการบริหาร, พระไตรปิฎก

บทคัดย่อ

การบริหารงานตามแนวพุทธวิธี เป็นการบริหารแบบธรรมาธิปไตย หมายถึง การบริหารงานโดยยึดถือหลักการ เหตุผล หลักความจริง ความถูกต้อง ความดีงาม ความเป็นธรรมเป็นประมาณในการบริหารจัดการ จะทำอะไรก็ยึดถือธรรมเป็นหลักเกณฑ์ กระทำด้วยปรารภสิ่งที่ได้ศึกษา ทำการด้วยความเคารพ หลักการ กฎ ระเบียบ กติกา ตรวจสอบตามข้อเท็จจริง และความเห็นที่รับฟังอย่างกว้างขวาง แจ้งชัด และพิจารณาอย่างดีเต็มขีดแห่งสติปัญญา มองเห็นได้ด้วยความบริสุทธิ์ใจ เป็นไปโดยชอบธรรม และเพื่อความดีงามเป็นประมาณ ละเว้นการยึดถือตนและกระแสเสียงคนส่วนใหญ่ที่ไม่ถูกธรรมไม่เป็นธรรม ยอมเสียสละประโยชน์สุขส่วนตน เพื่อประโยขน์สุขส่วนรวม ดังพุทธพจน์ที่ว่า “ถ้าเห็นว่าจะได้ประโยชน์สุขที่ยิ่งใหญ่ เพราะสละประโยชน์สุขเล็กน้อย บุคคลควรสละประโยชน์สุขเล็กน้อยเพื่อเห็นแก่ประโยชน์สุขที่ยิ่งใหญ่” การบริหารงานหากผู้บริหารยึดหลักธรรมาธิปไตย ก็จะทำให้ผู้ร่วมงานเกิดความมั่นใจในการทำงาน เพราะผู้บริหารยึดความถูกต้องเป็นหลัก ไม่มีที่รักมักที่ชัง ใครทำผิดก็ว่าไปตามความผิด ใครทำงานดีก็มีรางวัลมอบให้เพื่อเป็นกำลังใจแก่ผู้ปฏิบัติงาน เห็นแก่ความจริง ความถูกต้อง ความดีงาม และยึดถือตามหลักการ กฎ กติกา รวมทั้งการตัดสินใจที่ไม่เอนเอียงไปข้างไหน ไม่เห็นแก่ผลประโยชน์ ไม่เห็นแก่พรรคพวก มีความชัดเจนในการทำงาน ความโปร่งใสในการทำงานเป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่ผู้ร่วมงานได้ยึดไปปฏิบัติ หากในหน่วยงานทุกคนยึดหลักธรรมในการทำงานก็ทำให้งานคล่องตัว มีประสิทธิภาพในการทำงานและเกิดประสิทธิผลหรือประโยชน์ต่อหน่วยงาน
เผยแพร่แล้ว
2019-12-31