บทบาทของพระอินทร์ต่อพระพุทธศาสนาที่ปรากฏในอรรถกถาธรรมบท

  • พระมหาสมบูรณ์ สายวรรณ มจร.เชียงใหม่
คำสำคัญ: บทบาท, พระอินทร์ , พระพุทธศาสนา, อรรถกถาธรรมบท,

บทคัดย่อ

การวิจัยนี้เรื่อง “บทบาทของพระอินทร์ต่อพระพุทธศาสนาที่ปรากฏในอรรถกถาธรรมบท” มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ ๑) เพื่อศึกษาประวัติของพระอินทร์ในพระพุทธศาสนา ๒) เพื่อศึกษาบทบาทของพระอินทร์ต่อพระพุทธศาสนาที่ปรากฏในอรรถกถาธรรมบท  และ ๓) เพื่อวิเคราะห์บทบาทของพระอินทร์ต่อพระพุทธศาสนาที่ปรากฏในอรรถกถาธรรมบท และวิจัยเป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพที่เน้นการวิเคราะห์เอกสาร ซึ่งการวิจัยครั้งนี้ ได้ใช้ข้อมูลในอรรถกถา ธรรมบท  ๘ ภาค ผลการวิจัยพบว่า

                 พระอินทร์หรือท้าวสักกะเดิมเป็นมาณพ ชื่อว่า มฆะ  เป็นผู้มีจิตอาสาสร้างสาธารณะประโยชน์  ด้วยความเสียสละ ต่อมามีผู้เห็นว่าสิ่งที่มฆมาณพทำมีประโยชน์ จึงขอเข้าร่วมกลุ่มรวมกัน ๓๓ คน เริ่มสร้างที่สาธารณะประโยชน์ที่ใหญ่ขึ้นคือ คือถนน เป็นระยะหลายโยชน์ มีผู้ไม่หวังดี แจ้งความแก่พระราชาว่า มฆมาณพกับสหายเป็นกบฏ พระราชามิทันพิจารณารับสั่งให้ประหาร โดยให้ช้างเหยียบ มฆมาณพแผ่เมตตาให้ช้างพระราชาและผู้ที่ให้ร้าย ด้วยอานิสงส์เมตตานี้ ช้างไม่ยอมเหยียบ พระราชาทรงแปลกใจ พอทราบความจริง พระราชาจึงประทานช้าง พร้อมกับผู้ที่ให้ร้ายเป็นทาสของมฆมาณพกับสหาย ต่อมาได้สร้างศาลาที่พักสำหรับคนเดินทางไกล โรงพยาบาล สวนสาธารณะ ถนนหนทาง ขุดสระโบกขรณี สมาทานประพฤติธรรมคือ วัตตบท ๗ ประการ อย่างบริบูรณ์ สิ้นบุญจากชาตินั้น จึงได้มาเป็นพระอินทร์ราชาแห่งเทพสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เป็นเทพที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนามาก พระองค์ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าแล้วบรรลุเป็นโสดาบัน อุปัฏฐากพระพุทธเจ้าพระสงฆ์สาวก ช่วยเหลือผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน โดยบัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ของพระองค์จะร้อนเป็นสิ่งบอกเหตุว่า มีผู้เดือดร้อนที่พระองค์ต้องไปช่วยเหลือ พระอินทร์ปกครองแก้ไขปัญหาให้กับพวกเทวดาที่ได้รับความเดือนร้อน เป็นเทพที่มีจิตอาสาทำคุณงามความดี และเป็นเทพผู้พิทักษ์พระพุทธศาสนาด้วยดีตลอดมา

                 บทบาทพระอินทร์ในอรรถกถาธรรมบททั้ง ๘ ภาค ในงานวิจัยนี้ ผู้วิจัยพบบทบาทพระอินทร์ ๖ บทบาท คือ ๑)บทบาทในฐานะผู้อุปัฏฐากพระพุทธเจ้าและพระภิกษุสงฆ์ ๒)บทบาทในฐานะผู้อุปถัมภ์ช่วยเหลือผู้ประพฤติธรรมบำเพ็ญบุญ ๓)บทบาทในฐานะผู้มีจิตอาสา ๔)บทบาทในฐานะผู้ใฝ่ธรรม  ๕)บทบาทในฐานะผู้แสวงหาทางพ้นทุกข์  ๖)บทบาทผู้ในฐานะปกป้องพระพุทธศาสนา 

                 จากบทบาทเหล่านี้ของพระอินทร์ ผู้วิจัยนำมาวิเคราะห์เห็นว่า พระอินทร์มุ่งทำคุณงามความดี ด้วยใจไม่หวังผลตอบแทน ทำคุณประโยชน์ รวมจากทุกบทบาทแล้ว พระอินทร์ทำประโยชน์ ๒ อย่าง คือ ๑.ประโยชน์ส่วนรวม  ๒.ประโยชน์ส่วนตัว ด้วยประโยชน์ทั้ง ๒ นี้ พระอินทร์จึงเป็นเทพที่มีอิทธิพลมาทุกสุด ในฐานะเป็นเทพที่มีผู้เอาแบบอย่าง

บรรณานุกรม

พระมหาสมปอง มุทิโต. (2547). คัมภีร์อภิธานวรรณนา. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพมหานคร: บริษัทประยูรวงศ์พริ้นติ้ง จำกัด.

พระยาสัจจาภิรมย์ สรวง ศรีเพ็ญ. (2562). เทวกำเนิด. พิมพ์ครั้งที่ 19. นนทบุรี: สำนักพิมพ์ศรีปัญญา.

พระนิพนธ์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมปรมานุชิตโนรส. (2554). สมุดภาพ ปฐมสมโพธิกถา. (จัดพิมพ์เฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช). กรุงเทพมหานคร: พิมพ์ที่ธรรมสภา ศูนย์หนังสือพระพุทธศาสนา.

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต). (2559). พุทธธรรม ฉบับปรับขยาย. พิมพ์ครั้งที่ 45. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์ เพ็ทแอนด์โอม จำจัด.

ศานติ ภักดีคำ. (2556). พระอินทร์มหาเทวะผู้พิทักษ์พระพุทธศาสนา แบบอย่างแห่งจิตอาสา พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์อมริทร์.

สมัคร บุราวาศ. (2562). ปรัชญาพราหมณ์ในสมัยพุทธกาล บ่อเกิดภูมิปัญญาตะวันออก. พิมพ์ครั้งที่ 3.กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์สยาม.
เผยแพร่แล้ว
2024-09-06