การประยุกต์ใช้หลักสังคหวัตถุ 4 ในการประกอบกิจการขายประกันชีวิตใน จังหวัดแพร่
บทคัดย่อ
งานวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ (1) เพื่อศึกษาแนวคิด ทฤษฎีในการประกอบกิจการขายประกันชีวิตในจังหวัดแพร่ (2) เพื่อศึกษาหลักสังคหวัตถุ 4 ในพระพุทธศาสนาเถรวาท (3) เพื่อประยุกต์ใช้หลักสังคหวัตถุ 4 ในการประกอบกิจการขายประกันชีวิตในจังหวัดแพร่ เป็นการวิจัยแบบผสมผสาน ประกอบด้วยการวิจัยเชิงปริมาณ เก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้ขายประกัน จำนวน 237 คน และกลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้เอาประกัน จำนวน 50 คน โดยใช้แบบสอบถาม ทำการวิเคราะห์ข้อมูลด้วยค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการวิจัยเชิงคุณภาพ เก็บข้อมูลจากผู้ให้ข้อมูลสำคัญที่มีคุณสมบัติสอดคล้องกับประเด็นการวิจัย จำนวน 10 คน โดยใช้แบบสัมภาษณ์ ทำการวิเคราะห์ข้อมูลด้วยการวิเคราะห์เนื้อหา ผลการวิจัยพบว่า
- ผู้ขายประกันชีวิตมีการประยุกต์ใช้หลักสังคหวัตถุ 4 ในการประกอบกิจการขายประกันชีวิตในจังหวัดแพร่ โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก ( = 3.96) โดยเรียงจากด้านที่มากไปหาด้านที่น้อย ได้แก่ ด้านปิยวาจา ด้านสมานัตตตา ด้านอัตถจริยา และด้านทาน ตามลำดับ
- หลักสังคหวัตถุ 4 ในการประกอบกิจการขายประกันชีวิตในจังหวัดแพร่ ได้แก่
(1) ด้านทาน มีความจริงใจใรการให้ข้อมูลที่สำคัญเกี่ยวกับกรมธรรม์ การให้คำปรึกษาแก่ผู้เอาประกันด้วยความเต็มใจ โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของผู้เอาประกันเป็นหลัก (2) ด้านปิยวาจา มีศิลปะในการพูด ภาษาที่ใช้ในการสื่อสาร หรือให้ข้อมูลต้องเข้าใจง่าย สร้างความไว้วางใจด้วยการเป็นนักฟังที่ดี (3) ด้านอัตถจริยา การพัฒนาบุคลิกภาพสร้างสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน การให้ความเคารพซึ่งกันและกัน ทำให้ผู้เอาประกันรู้สึกสบายใจ (4) ด้านสมานัตตตา การดูเอาใจใส่ผู้เอาประกันหลังการขาย มีความรับผิดชอบ คอยให้คำปรึกษาผู้เอาประกันได้ตลอดเวลา ให้ความเชื่อใจว่าผู้เอาประกันชีวิตจะรับการบริการที่ดีจากผู้ขายประกันชีวิต - การประยุกต์ใช้หลักสังคหวัตถุ 4 ในการประกอบกิจการขายประกันชีวิตในจังหวัดแพร่ ได้แก่ (1) ด้านทาน การให้ข้อมูลที่ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นในการซื้อประกันชีวิต ตรงต่อความต้องการของผู้เอาประกัน มีไหวพริบในการตอบข้อคำถามให้คำแนะนำเกี่ยวกับการทำประกันชีวิตได้ดี (2) ด้านปิยวาจา มีความซื่อสัตย์ มีความจริงใจในการให้บริการ ตรงไปตรงมาในการให้ข้อมูลที่ไม่เกินความจริงเกี่ยวกับการทำประกันชีวิต เพื่อรักษาผลประโยชน์สูงสุดให้แก่ผู้เอาประกันชีวิต (3) ด้านอัตถจริยา ผู้ขายประกันชีวิตต้องมีวินัย และมีความรับผิดชอบต่อผู้เอาประกันชีวิต มีความขยันอดทนในการทำงาน พัฒนาตนเองให้มีความชำนาญในทักษะการขายประกัน (4) ด้านสมานัตตตา รักษามาตรฐานของการให้บริการเพื่อรักษาผลประโยชน์ให้แก่ผู้เอาประกัน พูดคุยทำเข้าใจเห็นใจเพื่อให้ทราบความต้องการของผู้เอาประกัน ดูแลเอาใจใส่ให้คำปรึกษาตลอดเวลา และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้ขายประกันชีวิตด้วยกัน
บรรณานุกรม
คณะกรรมการรณรงค์ระดมเงินออมธนาคารแห่งประเทศไทย. เอกสารรณรงค์ส่งเสริมการประหยัดและการออม. กรุงเทพมหานคร: ประชุมทองพริ้นติ้ง กรุ๊ป, 2542.
คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน, ปัญหาผู้บริโภคกับการทำธุรกิจประกัน. [ออนไลน์]. แหล่งที่มา: https://www.esanbiz.com/3290 [15 กรกฎาคม 2563].
ชานิณี ยศพันธ์. “การวิเคราะห์ความภักดีต่อการประกันชีวิตของบริษัทกรุงเทพประกันชีวิตจำกัด (มหาชน) ภาคพระนคร”. วิทยานิพนธ์พุทธศาสตรมหาบัณฑิต. บัณฑิตวิทยาลัย: มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2557.
นิภา อาจริยาภิบาล. “การปรับใช้หลักสังคหวัตถุ 4 ในการให้บริการประกันชีวิตในจังหวัดกาฬสินธุ์”. วิทยานิพนธ์พุทธศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาพระพุทธศาสนา. บัณฑิตวิทยาลัย: มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2561.
พระสุนทร ธมฺมธโร (บุญคง). “การประยุกต์ใช้หลักสังคหวัตถุ 4 ในชุมชนวัดหนองสนม จังหวัดระยอง”. วิทยานิพนธ์พุทธศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาพระพุทธศาสนา. บัณฑิตวิทยาลัย: มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2560.
โพธิ์ จรรย์โกมล. “การพัฒนาธุรกิจประกันชีวิตเพื่อความมั่นคงแห่งชาติ”. เอกสารการวิจัยส่วนบุคคล. วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรในที่ 24, 2525). (อัดสำเนา).