ศึกษาคำสอนเรื่องกฎแห่งกรรมที่ปรากฏในเรื่องพระมาลัย

  • พระวุฒิพงศ์ ฐฃิตสีโล มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตแพร่
  • รวีโรจน์ ศรคำภา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตแพร่
  • พระครูสุนทรธรรมนิทัศน์ . มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตแพร่
คำสำคัญ: กฎแห่งกรรม, พระมาลัย

บทคัดย่อ

การวิจัยฉบับนี้มีวัตถุประสงค์ คือ 1) เพื่อศึกษาประวัติความเป็นมาของพระมาลัย
2) เพื่อศึกษากฎแห่งกรรมในคัมภีร์พระพุทธศาสนา 3) เพื่อวิเคราะห์คำสอนเรื่องกฎแห่งกรรมที่ปรากฏในเรื่องพระมาลัย การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงเอกสาร (Documentary Research) โดยศึกษาจากคัมภีร์พระไตรปิฎก หนังสือ ตำรา เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ผลการวิจัยพบว่า

  1. เรื่อง พระมาลัย มีเนื้อสาระที่มีส่วนคล้ายกับพระสูตรสาเลยยกสูตร และเวรัญชกสูตรที่กล่าวถึงเหตุปัจจัยให้สัตว์บางพวกในโลกนี้ที่ประพฤติอธรรมได้ไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก และที่ประพฤติธรรมได้ไปเกิดในสุคติสวรรค์ โดยการเล่าเรื่องผ่านพระมาลัยที่มีบุญญาธิการมาก มีปรีชาญาณเฉลียวฉลาดหลักแหลม มียศบริวารเป็นพระขีณาสพผู้ประเสริฐ ได้ลงไปโปรดสัตว์นรก และขึ้นไปโปรดชาวสวรรค์เนือง ๆ ได้นำข่าวสารมาบอกยังเมืองมนุษย์ว่า เรื่องนรกสวรรค์มีจริง และขอให้ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท เร่งทำบุญกุศลด้วยการให้ทาน รักษาศีล 5 อยู่เป็นนิจ สมาทานอุโบสถศีล เจริญสมถะและวิปัสสนาอย่าได้ขาด ก็จะได้เกิดทันศาสนาพระศรีอริยเมตไตรยบรมพงษ์โพธิสัตว์เจ้า ซึ่งจะมาตรัสในมนุสสโลกในอนาคตกาลเบื้องหน้า
  2. กฎแห่งกรรม เป็นการกระทำที่ประกอบไปด้วยเจตนาถือว่าเป็นกรรมทั้งสิ้น กรรมจึงเป็นคำกลาง ๆ มองในแง่ลักษณะว่าดีหรือชั่วก็ได้ กรรมดีก็มี (กุศลกรรม) กรรมชั่วก็มี (อกุศลกรรม) การทำกรรมมีอยู่ 3 ทาง คือ ทางกาย เรียกว่า กายกรรม ทางวาจา เรียกว่า วจีกรรม และทางใจ เรียกว่า มโนกรรม ศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งปัญญาสอนให้มีเหตุผล โดยใช้ศรัทธาเป็นตัวนำ มี 4 ประการ เกี่ยวข้องกับกรรม 4 ประการ คือ 1. กัมมสัทธา เชื่อกรรม, เชื่อกฎแห่งกรรม, เชื่อว่ากรรมมีอยู่จริง 2. วิปากสัทธา เชื่อวิบาก, เชื่อผลของกรรม, เชื่อว่าผลของกรรมมีจริง 3. กัมมัสสกตาสัทธา เชื่อความที่สัตว์มีกรรมเป็นของของตัว 4. ตถาคตโพธิสัทธา เชื่อความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ในการพิจารณาวิเคราะห์เหตุการณ์ต่าง ๆ แสดงให้เห็นว่า กรรมมีอยู่จริงสามารถส่งผลให้มนุษย์และเหล่าสรรพสัตว์ทั้งหลายให้เสวยวิบากในลักษณะที่แตกต่างและไม่เหมือนกัน
  3. คำสอนเรื่องกฎแห่งกรรมที่ปรากฏในเรื่องพระมาลัยที่กล่าวถึงเหตุปัจจัยให้มนุษย์บางพวกได้ไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก และสวรรค์ เป็นต้น เพราะได้ประพฤติธรรม ทำความดี (กุศลกรรม) และประพฤติอธรรม ทำความชั่ว (อกุศลกรรม) ทั้ง 2 อย่าง เป็นความประพฤติที่แสดงออก 3 ทาง ได้แก่ 1. ทางกาย 2. ทางวาจา 3. ทางใจ และในเรื่องพระมาลัยยังสามารถเชื่อมโยงตามหลักการให้ผลของกรรมโดยใช้หลักกรรม 12 เป็นเหตุจำแนกผลของกรรม จากการวิเคราะห์คำสอนเรื่องกฎแห่งกรรมที่ปรากฏในเรื่องพระมาลัยที่มีความสอดคล้องกัน ได้แก่ 1. หลักโอวาทปาติโมกข์เป็นกรอบแนวทางปฏิบัติ 3 ข้อ คือ การละบาปทั้งปวง ทำความดีให้ถึงพร้อม และการรักษาจิตใจให้ผ่องใส เพื่อไปสู่เป้าหมายของชีวิต ไม่ว่าจะดำรงตนอยู่ในบทบาทหน้าที่ใด หากยึดเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจย่อมเกิดความผาสุกทุกเมื่อ 2. หลักเทวธรรม ธรรมอันทำให้บุคคลเป็นเทวดา คือ หิริ ได้แก่ ความละอายแก่ใจ และโอตัปปะ ได้แก่ ความเกรงกลัวต่อบาป ดังนั้น คำสอนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องกฎแห่งกรรมที่ปรากฎในพระมาลัยอย่างชัดเจน เรื่องราวที่มุ่งสื่อถึงกรรม และวิบากกรรมของมนุษย์เป็นสำคัญ

บรรณานุกรม

ขุนวิจิตรมาตร. (ม.ป.ป.). สิ่งที่คิดเห็นในเรื่องคาวี. พระนคร: สาสน์สวรรค์.เปลื้อง ณ นคร. (2515). ประวัติวรรณคดีสำหรับศึกษา. กรุงเทพมหานคร: ไทยวัฒนาพานิช.

พระธรรมธีรราชมหามุนี (โชดก ญาณสิทฺธิเถร ป.ธ. 9). (2553). พระมาลัยลงไปโปรดสัตว์นรก. พิมพ์ครั้งที่ 6.

นนทบุรี: สำนักพิมพ์สัมปชัญญะ.สายใจ อินทรัมพรรย์. (2528). วรรณกรรมในสมัยอยุธยาตอนปลาย. กรุงเทพมหานคร: ภาควิชามัธยมศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.
เผยแพร่แล้ว
2022-02-11