ศึกษาความเชื่อและคติธรรมในเทศกาลสงกรานต์ของประชาชนตำบลบ้านโคก อำเภอบ้านโคก จังหวัดอุตรดิตถ์

  • พระอธิการสมชาย ฉินฺนาลโย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตแพร่
  • พระราชเขมากร . มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตแพร่
  • พระอนุสรณ์ กิตฺติวณฺโณ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตแพร่
คำสำคัญ: คติธรรม, ความเชื่อ, เทศกาลสงกรานต์

บทคัดย่อ

การวิจัยเรื่อง “วิเคราะห์ความเชื่อและคติธรรมในเทศกาลสงกรานต์ ของประชาชนในตำบลบ้านโคก อำเภอบ้านโคก จังหวัดอุตรดิตถ์” มีวัตถุประสงค์ คือ 1. เพื่อศึกษาประวัติความเป็นมาเทศกาลสงกรานต์ของประชาชนในตำบลบ้านโคก อำเภอบ้านโคก จังหวัดอุตรดิตถ์ 2. เพื่อศึกษาความเชื่อและคติธรรมที่ปรากฏในเทศกาลสงกรานต์ของประชาชนในตำบลบ้านโคก อำเภอบ้านโคก จังหวัดอุตรดิตถ์ 3. เพื่อวิเคราะห์ความเชื่อและคติธรรมที่ส่งผลต่อการต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนใน ตำบลบ้านโคก อำเภอบ้านโคก จังหวัดอุตรดิตถ์ งานวิจัยนี้ เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยศึกษาจากเอกสาร การลงพื้นที่สัมภาษณ์เชิงลึก เกี่ยวกับความเชื่อคติธรรมที่ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนในตำบลบ้านโคก อำเภอบ้านโคก จังหวัดอุตรดิตถ์ ผลการวิจัยพบว่า

  1. ประวัติความเป็นเกี่ยวกับเทศกาลสงกรานต์ของประชาชนในชุมชนตำบลบ้านโคก
    เป็นเทศกาลที่ได้ยึดถือปฏิบัติสืบต่อกันมาระหว่างประเทศลาวกับประเทศไทย ทำให้พิธีกรรมในช่วงเทศกาลสงกรานต์มีทั้งเหมือนและแตกต่างกันไป ทั้งในความเชื่อและพิธีกรรมหรือกิจกรรม แต่พิธีกรรมและกิจกรรมที่ประชาชนตำบลบ้านโคกยึดถือและปฏิบัติสืบต่อกันมานั้น เช่น กิจกรรมยิงปืนรับสังขาร กิจกรรมการแห่ต้นดอกไม้และแห่ฟด กิจกรรมอยู่วัดแห่ข้าวพันก้อน กิจกรรมการทำบุญสังขาร กิจกรรมการสรงน้ำ และกิจกรรมก่อเจดีย์ทราย ในการประกอบกิจกรรมเหล่านี้ ทำให้เห็นถึงความเสียสละและความสมัครสมานสามัคคีของคนในชุมชน ประชาชนที่อาศัยอยู่ในตำบลบ้านโคก อำเภอบ้านโคก จังหวัดอุตรดิตถ์ อพยพมาจากประเทศลาว เนื่องด้วยการล่าอาณานิคมในสมัยพระเจ้าตากสินแห่งธนบุรีทำให้เมืองจำปาศักดิ์ เมืองเวียงจันทร์ และเมืองหลวงพระบางตกอยู่ภายใต้ราชอาณาจักรของประเทศไทย พื้นที่ฝั่งขวาของจังหวัดอุตรดิตถ์ ส่วนหนึ่งเคยเป็นอาณาจักรหลวงพระบาง คือ บริเวณเขตอำเภอน้ำปาด อำเภอทองแสนขัน อำเภอฟากท่า และอำเภอบ้านโคกในปัจจุบัน
  2. ด้านความเชื่อและคติธรรมในเทศกาลสงกรานต์ของประชาชนตำบลบ้านโคกอำเภอบ้านโคก จังหวัดอุตรดิตถ์ พบว่า ความเชื่อเป็นพื้นฐานสำคัญของการดำเนินชีวิต ที่ทำให้เกิดการยอมรับและมั่นใจในการปฏิบัติตามคำสอนของศาสนา โดยเฉพาะความเชื่อขั้นพื้นฐานของการให้ทาน พิจารณาได้จากกิจกรรมในเทศกาลสงกรานต์ของประชาชนในตำบลบ้านโคกที่ เช่น และต้นดอกไม้ การอยู่วัดถวายข้าวพันก้อน การทำบุญสังขาร การรดน้ำดำหัว แม้กระทั่งการขนทรายเข้าวัด สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นวัตถุทาน การใช้วาจาให้เกิดประโยชน์ คือ การแสดงพระธรรมเทศนาของพระสงฆ์ ถึงอานิสงส์ต่าง ๆ และสำคัญที่สุด ก็คือ การรู้จักการให้อภัย ที่เกิดจากการขอขมาในวันรดน้ำดำหัว กิจกรรมที่ประชาชนในตำบลบ้านโคกได้ยึดถือและปฏิบัตินั้น ถือว่าเป็นการช่วยเหลือกิจกรรมทางสังคม คือ การอยู่ร่วมกัน การทำประโยชน์แก่ผู้อื่น ด้วยการขวนขวายช่วยเหลือกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อประโยชน์แก่ตนเอง ครอบครัว และชุมชน อย่างสม่ำเสมอ ตรงกับ คำว่า สมานัตตา และนำไปสู่ความกตัญญูกตเวที
  3. วิเคราะห์ความเชื่อและคติธรรมที่ส่งผลต่อการต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนใน ตำบลบ้านโคก อำเภอบ้านโคก จังหวัดอุตรดิตถ์ พบว่า (1) คติธรรมที่ส่งผลต่อการต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนใน ตำบลบ้านโคก อำเภอบ้านโคก จังหวัดอุตรดิตถ์ พบว่า ด้านครอบครัว ทำให้สมาชิกครอบครัวมีโอกาสกลับมาอยู่พร้อมหน้ากัน และได้ร่วมกันประกอบกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การทำความสะอาดบ้าน การเตรียมอาหารเพื่อไปทำบุญ สร้างความสัมพันธ์อันดีให้เกิดขึ้นภายในครอบครัว นอกจากนี้ลูกหลานยังได้แสดงออกถึงความกตัญญูกตเวทีต่อบรรพบุรุษทั้งที่ยังมีชีวิตอยู่หรือแม้กระทั่งผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว (2) ด้านชุมชน การสร้างความสมัครสมานสามัคคีของประชาชนในตำชุมชนตำบลบ้านโคกที่เกิดจากการร่วมด้วยช่วยกันในการเตรียมความพร้อมต่าง ๆ เช่น การช่วยกันทำหิ้งเพื่ออัญเชิญพระพุทธรูปลงไปสรงน้ำ การช่วยกันเตรียมต้นฟดและต้นดอกไม้ การช่วยกันเตรียมข้าวเพื่อทำข้าวพันก้อนถวายพระพุทธเจ้า การเตรียมสถานที่ก่อเจดีย์ทราย โดยการแบ่งหน้าที่กันรับผิดชอบ (3) ด้านพระพุทธศาสนา กิจกรรมส่วนมากที่ปรากฏในเทศกาลสงกรานต์ ล้วนมีความสอดคล้องกับวัด ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมแห่ฟดหรือต้นดอกไม้ การนอนวัดถวายข้าวพันก้อนที่ประชาชนในตำบลบ้านโคกได้ยึดถือและปฏิบัติสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน แสดงให้เห็นว่าวัดยังเป็นศูนย์กลาง เป็นการส่งเสริมและอุปถัมภ์พระพุทธศาสนาได้เป็นอย่างดี

บรรณานุกรม

พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต). (2539). พิธีกรรม ใครว่าไม่สำคัญ. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพมหานคร: มูลนิธิพุทธธรรม.

พระธรรมปิฏก (ป.อ.ปยุตฺโต). (2539). ความสำคัญของพระพุทธศาสนาในฐานะศาสนาประจำชาติ. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์บริษัทสหธรรมิก จำกัด.

พระอนุสรณ์ กิตฺติวณฺโณ (เรืองปัญญารัตน์). (2556). ความเชื่อและคติธรรมที่ปรากฏในคัมภีร์อานิสงส์ปีใหม่ล้านนา. วิทยานิพนธ์พุทธศาสตรมหาบัณฑิต. สาขาวิชาพระพุทธศาสนา บัณฑิตวิทยาลัย:
มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต). (2561). พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม. พิมพ์ครั้งที่

40. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์ผลิธัมม์ ในเครือบริษัท สำนักพิมพ์เพ็ทแอนด์โฮม จำกัด.

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต). (2561). พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์. พิมพ์ครั้งที่ 33. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์ผลิธัมม์ ในเครือบริษัท สำนักพิมพ์เพ็ทแอนด์โฮม จำกัด.
เผยแพร่แล้ว
2022-02-11