กระบวนการส่งเสริมการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายตามแนวพระพุทธศาสนาของประชาชนในเขตอำเภอตรอน จังหวัดอุตรดิตถ์

  • พระปลัดกมลมาศ เลขธมฺโม มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตแพร่
คำสำคัญ: การดูแลผู้ป่วย, ระยะสุดท้าย

บทคัดย่อ

การวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์ 3 ประการ คือ 1) เพื่อศึกษาหลักการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายตามแนวพระพุทธศาสนา 2) เพื่อศึกษาหลักพุทธธรรมที่ส่งเสริมการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายตามแนวพระพุทธศาสนาของประชาชนในเขตอำเภอตรอน จังหวัดอุตรดิตถ์ 3) เพื่อเสนอกระบวนการส่งเสริมการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายตามแนวพระพุทธศาสนาของประชาชนในเขตอำเภอตรอน จังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research)  โดยการศึกษาเอกสาร ผนวกกับสัมภาษณ์เชิงลึก และการสนทนากลุ่มย่อย (Focus Group) ผลการวิจัยพบว่า

1) หลักการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายตามแนวพระพุทธศาสนา เน้นการดูแลใน 2 มิติ คือ การดูแลด้านร่างกายและจิตใจเป็นพื้นฐาน และเชื่อมโยงไปสู่การดูแลที่ให้ความสำคัญกับมิติแห่งความเป็นมนุษย์ หรือมิติแห่งการพัฒนาศักยภาพมนุษย์จนถึงวินาทีสุดท้ายแห่งชีวิต ไม่ว่าจะเป็นชีวิตทางด้านกาย ศีลหรือสังคม จิตใจ และปัญญา มุ่งให้ผู้ป่วยเกิดความงอกงามตามหลักไตรสิกขา เป็นการดูแลที่มุ่งพัฒนาปัญญาให้รู้เท่าทันโลกและชีวิต มุ่งช่วยให้ผู้ป่วยรู้เท่าทันความตาย ไม่หวาดหวั่นพรั่นพรึงต่อความตาย เพื่อช่วยประคับประคองจิตใจของผู้ป่วยให้มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ ทำชีวิตให้มีจิตผ่องแผ้วในวาระสุดท้ายก่อนสิ้นชีวิต เมื่อจากโลกนี้ ย่อมไปสู่สุคติ โลกสวรรค์

2) หลักพุทธธรรมที่นำมาใช้ในกระบวนการส่งเสริมการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายนั้นแบ่งออกได้เป็น 2 ส่วนคือ หลักธรรมสำหรับผู้ดูแลผู้ป่วย และหลักธรรมสำหรับผู้ป่วยเองซึ่งประกอบไปด้วยพรหมวิหารธรรม สังคหวัตถุ กัลยาณมิตตตา อภิณหปัจเวกขณ์ โยนิโสมนสิการ อัปมาทะ และการเจริญสมถะและวิปัสสนา เป็นต้น ล้วนเป็นหลักธรรมที่ประสานสอดคล้องกับหลักการดูแลผู้ป่วยตามหลักการทางพระพุทธศาสนา คือ การดูแลที่ครอบคลุมด้านร่างกายและจิตใจเป็นหลัก

3) ด้านกระบวนการส่งเสริมการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายตามแนวพระพุทธศาสนาของประชาชนในเขตอำเภอตรอน จังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งได้พัฒนากระบวนการมาจากแนวคิดและวิธีการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายตามหลักการทางพระพุทธศาสนา โดยบูรณาการกับหลักการทางการแพทย์แผนปัจจุบันของโรงพยาบาลตรอนที่ใช้กระบวนการดูแลแบบประคับประคอง (Palliative care) สามารถสรุปเป็น 5 ขั้นตอน คือ ขั้นตอนที่ 1 ประเมินสภาพผู้ป่วยเพื่อค้นหาความต้องการการดูแลแบบประคับประคอง, ขั้นตอนที่ 2 แจ้งข้อมูลการรักษาอย่างค่อยเป็นค่อยไปแก่ผู้ป่วยและญาติ ตลอดจนช่วยประสานงานเกี่ยวกับความต้องการการรักษา, ขั้นตอนที่ 3 ดูแลประคับประคองจิตใจ อารมณ์ ความรู้สึก รวมทั้งให้ความช่วยเหลือในด้านสังคมเพื่อให้ผู้ป่วยและครอบครัวสามารถปรับตัวกับภาวะที่เป็นอยู่ได้อีกทั้งตอบสนองต่อความต้องการที่ผู้ป่วยเห็นว่ามีคุณค่า, ขั้นตอนที่ 4 การส่งต่อเครือข่ายเพื่อการดูแลอย่างต่อเนื่องที่บ้าน และขั้นตอนที่ 5 ประเมินความเหมาะสมเกี่ยวกับการดูแลรักษาในวาระสุดท้ายของชีวิต โดยทั้ง 5 ขั้นตอนนี้ ครอบคลุมกระบวนการดูแลตามแนวพระพุทธศาสนาแบบองค์รวมใน 4 มิติ คือ ด้านกาย ใช้หลักการจัดสัปปายะ ที่อยู่อาศัยและสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับอาการและสภาพผู้ป่วย ร่วมกับการดูแลรักษาตามหลักการแพทย์ปัจจุบัน, ด้านจิตใจ ใช้หลักการปฏิบัติตามความเชื่อความศรัทธาของผู้ป่วย ได้แก่ การถวายสังฆทาน การสวดมนต์สืบชะตา การบายศรีสู่ขวัญ ผูกข้อมือ ใช้หลักสมถะภาวนา และการสวดมนต์ระลึกถึงคุณของพระรัตนตรัยอย่างสม่ำเสมอ ด้านสังคม ใช้หลักการรับฟัง การสัมผัส และการสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับคนในครอบครัวและผู้ที่ทำหน้าที่ดูแลผู้ป่วย และด้านปัญญา ใช้หลักการรับฟังและการสัมผัสด้วยความรักความเมตตาการสนทนาธรรม การแสดงธรรม และการเจริญวิปัสสนาภาวนา เมื่อกระบวนการทั้ง 4 มิติ มีความประสานสอดคล้องกัน ย่อมที่จะช่วยให้ผู้ป่วยมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ทำชีวิตให้มีคุณภาพ มีจิตผ่องแผ้ว ในวาระสุดท้ายก่อนสิ้นชีวิต ที่เรียกว่า การตายดีและสมศักดิ์ศรี

บรรณานุกรม

ธวัชชัย จันจุฬา. (2563). “นักข่าวพลเมือง: พระสงฆ์กับการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย”. ไทยพีบีเอส. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 3 เมษายน. แหล่งที่มา: https://www.citizenthaipbs.net/node/5827.
พรทวี ยอดมงคล. (2556). การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายแบบประดับประคอง. กรุงเทพมหานคร: บริษัท พิมพ์ดี จำกัด.
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ ปยุตฺโต). (2551). พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์. พิมพ์ครั้งที่ 11. กรุงเทพมหานคร: เอส. อาร์. พริ้นติ้ง แมส โปรดักส์.
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต). (2551). พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม. พิมพ์ครั้งที่ 17. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.
วิไลลักษณ์ ตันติตระกูล. (2552). ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับความผาสุกทางจิตวิญญาณของผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย. วิทยานิพนธ์พยาบาลศาสตรมหาบัณฑิต. คณะพยาบาลศาสตร์: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
สุขวสาชิตะปัญญา. (2560). คุณสมบัติของกัลยาณมิตรและหลักธรรมการคบมิตร. วารสารปรัชญาปริทรรศน์. ปีที่ 22 ฉบับที่ 1 (มกราคม – สิงหาคม): 97-99
เผยแพร่แล้ว
2022-02-11