พุทธวิธีส่งเสริมสุขภาวะของพระสงฆ์ในเขตอำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์
บทคัดย่อ
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ 3 ประการ คือ 1) เพื่อศึกษาแนวคิด ทฤษฎีเกี่ยวกับการป้องกันและเสริมสร้างสุขภาพของพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาเถรวาท 2) เพื่อศึกษาสภาพบริบทและปัญหาอุปสรรคของการส่งเสริมสุขภาวะของพระสงฆ์ในอำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ และ 3) เพื่อเสนอพุทธวิธีการส่งเสริมสุขภาวะของพระสงฆ์ในอำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ ใช้รูปแบบการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยการศึกษาภาคเอกสารและการสัมภาษณ์เชิงลึก กลุ่มผู้ให้ข้อมูลสำคัญ จำนวน 24 รูป/คน เพื่อนำมาวิเคราะห์เนื้อหา ผลการวิจัยพบว่า
1) การป้องกันและเสริมสร้างสุขภาพของพระสงฆ์ตามหลักการทางพระพุทธศาสนา คือการทำให้ร่างกายและจิตใจมีความสัมพันธ์กัน ด้วยการมีสติสัมปชัญญะบริบูรณ์ดี ทำให้มีโรคน้อย มีเป้าหมายในการบริโภค มีสติพิจารณาฉันเฉพาะอาหารที่เป็นประโยชน์ รู้ประมาณในการบริโภคและห้ามดื่มสุราและเมรัย ทำให้มีพลานามัยสมบูรณ์ กระปรี้กระเปร่า อยู่สำราญดี จนเกิดเป็นสุขภาพองค์รวมที่สมบูรณ์ทั้งด้านกาย จิต สังคม และปัญญา
2) สภาพบริบทของการส่งเสริมสุขภาวะพระสงฆ์ในเขตอำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ ยังไม่มีความชัดเจนในการดำเนินนโยบายด้านสาธารณสุขให้กับวัดและพระสงฆ์สามเณร นอกจากนี้พบประเด็นที่มีความสำคัญต่อการดำเนินนโยบายด้านสาธารณสุขและการส่งเสริมสุขภาวะของพระสงฆ์ นั่นคือการเชื่อมโยงการทำงานในระดับปฏิบัติการจากองค์ความรู้ของธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์ พ.ศ.2560 และโครงการวัดส่งเสริมสุขภาพของคณะสงฆ์อำเภอพิชัย เชื่อมโยงองค์ความรู้จากการวิเคราะห์สภาพปัญหาอุปสรรคในการส่งเสริมสุขภาวะทั้งในด้านของพฤติกรรมเสี่ยงด้านสุขภาพ การขาดบุคลากรในการส่งเสริมการดูแลสุขภาวะของพระสงฆ์ และความต้องการการดูแลสุขภาพแบบมีร่วมส่วนและเครือข่ายของพระสงฆ์ การดำเนินงานแบบมีส่วนร่วม จะนำไปสู่การพัฒนาและการหาแนวทางในการส่งเสริมสุขภาวะของพระสงฆ์ในอำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ที่เหมาะสม
3) พุทธวิธีส่งเสริมสุขภาวะของพระสงฆ์ในเขตอำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ โดยการผสมผสานแนวคิดธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์ พ.ศ.2560 กับแนวคิดของโครงการวัดส่งเสริมสุขภาพของคณะสงฆ์อำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ คือ การใช้แนวคิด “พระคิลานุปัฏฐาก” เป็นพุทธวิธีส่งเสริมสุขภาวะของพระสงฆ์ในเขตอำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ เพราะเป็นฐานแนวคิดการดูแลสุขภาพตนเองตามหลักพระธรรมวินัย ชุมชนและสังคมกับการดูแลอุปัฏฐากพระสงฆ์ที่ถูกต้องตามหลักพระธรรมวินัย ที่ประกอบด้วยการส่งเสริมสุขภาวะของพระสงฆ์ใน 3 ประเด็น คือ (1) หลักพระธรรมวินัยกับการดูแลสุขภาพ : พระคิลานุปัฏฐาก มีองค์ความรู้ความเข้าใจเรื่องการดูแลผู้ป่วยและการดูแลสุขภาพพระสงฆ์ตามหลักพระธรรมวินัย และสามารถให้ความรู้ความเข้าใจ ช่วยเหลือ ในการดูแลสุขภาพของพระสงฆ์ได้ (2) การส่งเสริมสุขภาพและการดูแลพระสงฆ์ที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้: พระคิลานุปัฏฐากมีความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับโรคที่พบบ่อยในกลุ่มพระสงฆ์ พฤติกรรมเสี่ยง สามารถสังเกตและให้การปฐมพยาบาลเบื้องต้นแก่ผู้สูงอายุที่มีภาวะวิกฤติได้ ตลอดจนสามารถดูแลช่วยเหลือพระสงฆ์ที่เป็นผู้ป่วยระยะสุดท้าย และ (3) พระคิลานุปัฏฐากกับการพัฒนาวัดและชุมชน : พระคิลานุปัฏฐาก มีศักยภาพในการสร้างการมีส่วนร่วมและการสร้างเครือข่ายพระสงฆ์แกนนำชุมชนในการดูแลสุขภาพพระสงฆ์ มีความรู้ ความเข้าใจในองค์ประกอบและความสำคัญของการดำเนินงานวัดส่งเสริมสุขภาพ มีทัศนคติและมีทักษะในการส่งเสริมสุขภาพดูแลพระสงฆ์ สามารถนำความรู้ ที่ได้ มาประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติการดูแลพระสงฆ์ได้อย่างถูกต้องตามหลักพระธรรมวินัยและถูกต้องตามหลักวิชาการ อย่างมีประสิทธิภาพ
บรรณานุกรม
พระครูวิทิตธรรมวงศ์ (วรรณชัย ติสฺสวํโส). (2561). รูปแบบการรักษาสุขภาวะองค์รวมของพระสงฆ์ตามแนวพระพุทธศาสนา. ดุษฎีนิพนธ์พุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาพระพุทธศาสนา. บัณฑิตวิทยาลัย: มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.
พระฉัตรชัย จนฺทนนฺโท (จะทำ). (2558). พฤติกรรมการดูแลสุขภาวะของพระสงฆ์ตามหลักภาวนา 4 ในเขตอำเภอร้องกวาง จังหวัดแพร่”. วิทยานิพนธ์พุทธศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาพระพุทธศาสนา. บัณฑิตวิทยาลัย: มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.
พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตโต). (2546). พจนานุกรมพุทธศาสน์ฉบับประมวลศัพท์. พิมพ์ครั้งที่ 10. กรุงเทพมหานคร: เอส.อาร์.พริ้นท์ติ้งแมสโปรดักชั่น จำกัด.
พระสุรพล ปิยธมฺโม (ขุนไชย). (2560). “ศึกษาสุขภาวะของพระสงฆ์ ตำบลงิ้วลาย อำเภอตะพานหิน จังหวัดพิจิตร”. วิทยานิพนธ์พุทธศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาพระพุทธศาสนา. บัณฑิตวิทยาลัย: มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.
พระอธิการเฉลิม กนฺตสาโร (แดงประทุม). (2562). “การพัฒนาศักยภาพพระคิลานุปัฏฐากในโครงการวัดส่งเสริมสุขภาพของพระสงฆ์ในเขตอำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย”. วิทยานิพนธ์พุทธศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาพระพุทธศาสนา. บัณฑิตวิทยาลัย: มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.
สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.). (2560). ธรรมนูญสุขภาพสงฆ์แห่งชาติพุทธศักราช 2560. กรุงเทพมหานคร: บริษัท โอ.เอส.พริ้นติ้ง เฮ้าส์ จำกัด.